5 กุมภาพันธ์ 2558

เส้นทางสู่ดวงดาว

เส้นทางสู่ดวงดาว
                   
                     
   เส้นทางสู่ดวงดาว  องค์ประกอบแห่งความสำเร็จของผู้บริหาร  
                                                                                            
สุรัตน์ ดวงชาทม
                 การจะเป็นผู้บริหารนั้นยากยิ่ง แต่การเป็นผู้บริหารที่ดีนั้นยากยิ่งกว่า จากประสบการณ์และการเรียนรู้จากผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จ พบว่าองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ผู้บริหารประสบความสำเร็จในชีวิตของการเป็นนักบริหาร คือ
                1.  บุคลิกภาพ (ดี) (PERSONALITY)
                     มีคำกล่าวว่า "มาดดี มีชัยไปกว่าครึ่ง" ผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จจะต้องพัฒนาตนเองให้เป็นผู้ที่มีบุคลิกภาพที่ดีอยู่เสมอ กล่าวคือ จะต้องเป็นผู้ที่มี "จิตใจแจ่มใส กายสง่า และวาจาดี" 
                จิตใจแจ่มใส หมายถึงการมีจิตใจที่แจ่มใส ร่างเริงเบิกบานอยู่เสมอ การรู้จักมองโลกในแง่ดีและมีอารมณ์ขันไม่บ่น ไม่บึ้ง และไม่เบี้ยว 
                กายสง่า การแต่งกาย ท่าทาง การวางตัว จะต้องถูกต้องเหมาะสมและภูมิฐาน 
                วาจาดี ผู้บริหารที่ดีจะต้อง "พูดดี พูดเป็น" อดีตนายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหวัณ กล่าวว่า    "ก่อนพูดเราเป็นนายคำพูด หลังพูดคำพูดเป็นนายเรา" ฉะนั้นผู้บริหารจะต้องพัฒนาตนเองให้เป็นคนคิดก่อนพูดไม่ใช้พูดก่อนคิด
                การพูดไม่ใช่พรสวรรค์ แต่เป็นพรแสวงที่ฝึกได้หัดได้ จะพูดแต่ละครั้ง พึงระลึกถึงคำกลอนของสุนทรภู่ที่สอนว่า
                         "อันมนุษย์สุดนิยมเพียงลมปาก      จะได้ยากโหยหิวเพราะชิวหา
                          แม้นพูดดีมีคนเขาเมตตา                 จะพูดจาจงพิเคราะห์ให้เหมาะความ"
                2.  ความรู้ (ดี) (KNOWLEDGE)
                     ผู้รู้สอนว่า
                            "รู้อะไรให้รู้เป็นครูเขา              จะได้เบาแรงตนเร่งขวนขวาย    
                             มีข้าไทใช้สอยค่อยสบาย       ตัวเป็นนายโง่เง่าบ่าวไม่เกรง"
                        "อันข้าไทได้พึ่งเขาจึงรัก            ถ้าถอยศักดิ์เสื่อมอำนาจวาสนา
                         เขาหน่ายหนีมิได้อยู่คู่ชีวา         แต่วิชานั้นคู่กายจนวายปราณ"
       ผู้บริหารที่ดีนั้นต้อง
      "Know Something in everything" รู้บางสิ่งในทุกสิ่ง (ความรู้ทั่ว ๆ ไปต้องรู้กว้างและรู้ไกล)
      "Know everything in Something" รู้ทุกสิ่งในบางสิ่ง (รู้งานในหน้าที่ที่ต้องรู้ลึก)
      "ผู้บริหารในยุคปฏิรูปการศึกษาจะต้องเป็นผู้นำทางวิชาการ และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ที่ทันสมัยอยู่เสมอ"
                3.  (มี) วิสัยทัศน์ (VISION)
                     ผู้บริหารที่ดีต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล วิสัยทัศน์ของบุคคลเกิดจากประสบการณ์และการเรียนรู้ ประสบการณ์และการเรียนรู้เกิดจากการได้อ่าน ได้ฟัง ได้ ดู และได้ปฏิบัติ คนที่มีประสบการณ์และการเรียนรู้มาก ๆ คือ คนที่ได้อ่าน ได้ดู ได้ฟัง และได้ปฏิบัติมามากย่อมมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล วิสัยทัศน์จะต้องควบคู่กับการปฏิบัติเสมอ "Vision with action"  จึงบรรลุผล                ถ้ามีวิสัยทัศน์ แต่ขาดการนำสู่การปฏิบัติ "Vision without action" ก็เท่ากับการเพ้อฝันเท่านั้นเอง
                4.  (มี) ภาวะผู้นำ (LEADERSHIP)
                     มีคำกล่าวว่า "ผู้บริหารจะต้องเป็นผู้นำ แต่ผู้นำไม่จำเป็นต้องเป็นผู้บริหาร" พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระราชนิพนธ์ถึงความสำคัญของผู้นำไว้ดังนี้
                            "โขลงช้างย่อมมีพญาสาร           ครอบครองบริวารทั้งหลาย
                              ฝูงโคขุนโคก็เป็นนาย                มุ่งหมายนำพวกไปหากิน
                              ฝูงหงส์มีเหมราชา                      สกุณามีขุนปักษิณ
                              เทวายังมีศักรินทร์                     เป็นมิ่งเทวัญชั้นฟ้า
                              เหล่าคนจะต้องเป็นคณะ           ถ้าต่างคิดเกะกะตามประสา
                              จะตั้งอยู่ได้ดีสักกี่เพลา             ดูท่าจะย่อยยับอับจน
                             จำเป็นต้องมีหัวหน้า                    กะการบัญชาให้เป็นผล
                             กองทัพบริบูรณ์ด้วยผู้คน           ไม่มีจุมพลจะสู้ใคร"
         ภาวะผู้นำมีหลายแบบ แต่ละแบบมีดีและมีเสีย ไม่มีวิธีที่ดีที่สุด "There is no best way"   ผู้นำที่ฉลาด คือผู้ที่รู้จักเลือกใช้ภาวะผู้นำให้สอดคล้องเหมาะสมกับสถานการณ์ บุคคล และสภาพแวดล้อม
                5.  (มี) มนุษยสัมพันธ์ (HUMAN RELATIONSHIP)
                     ผู้บริหารจะต้องทำงานกับบุคคลหลายฝ่าย ทั้งผู้บังคับบัญชา เพื่อนร่วมงาน ผู้ใต้บังคับบัญชาและบุคคลทั่วไป     ดังนั้น จึงต้องพัฒนาตนเองให้เป็นผู้มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับนาย ลูกน้อง เพื่อน และคนทุกคน คำกล่าวต่อไปนี้ล้วนแต่ให้ความรู้สึกที่ดี ในเชิงของการสร้างมนุษยสัมพันธ์
                            "ไม่ฆ่าน้อง         ไม่ฟ้องนาย               ไม่ขายเพื่อน"
                            "สนับสนุนน้อง   สนองนโยบายนาย"
                            "จริงใจกับมิตร  พิชิตใจมวลชน"
                            "อุ้มน้อง             ประคองพี่                   กอดคอเพื่อน"
                            "นกไม่มีขน       คนไม่มีเพื่อน              ขึ้นที่สูงไม่ได้"
             ในทางตรงกันข้าม การทะเลาะเบาะแว้งกับบุคคลอื่นเป็นสิ่งที่ผู้บริหารควรละเว้นเสียเป็นดีที่สุด
                6.  (มี) คุณธรรมจริยธรรม (MORAL AND ETHICS)
                     คุณธรรมประดุจดั่งโลหิตที่หล่อเลี้ยงจิตวิญญาณของผู้บริหารให้เป็นผู้ คิดดี พูดดี ทำดี และสามารถครองตน   ครองคน และครองงาน ได้อย่างสง่างาม มีคำกล่าวว่า
                                                       "ความดีฉกชิงวิ่งราวกันไม่ได้
                                                        ความชั่วนั้นทดแทนกันไม่ได้
                                                        ความกล้าแบ่งปันกันไม่ได้"
                ผู้บริหารที่ดีจะต้องหมั่นตรวจสอบตนเองให้เป็นผู้มีคุณธรรม และจริยธรรมอยู่เสมอ
            การเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรมนั้นจะทำให้ผู้บริหารได้รับความรัก ความเคารพ ความเชื่อถือ และความศรัทธาจากผู้ใต้บังคับบัญชา และบุคคลทั่วไป
                ผู้บริหารพึงระวัง 4 ส. และ 4 อ. ต่อไปนี้
                4 ส.                  1. สตรี              2. สตางค์                  3. สุรา                4. สรรเสริญ
                4 อ.                  1. อำนาจ         2. อาฆาต                  3. อารมณ์          4. อคติ
                เสียงกู่จากผู้น้อยในคำกลอนต่อไปนี้ จะช่วยสะกิดเตือนใจผู้บริหารให้ตระหนักในคุณค่าของความดี      และมีคุณธรรม คือ
                                   "อธิษฐานตั้งใจ ไว้เต็มที่                  เกิดชาตินี้ชาติไหนไม่รู้จบ
                                    หากเกิดเป็นผู้น้อยคอยไหว้           ขอได้พบนายดีมีคุณธรรม"
                7.  บริหารจัดการ (ดี) (MANAGEMENT)
                     ประสิทธิภาพขององค์กรขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพของผู้บริหาร ผู้บริหารที่ดีจะต้อง "See through" ในงานที่รับผิดชอบ สามารถมองภาพของงานได้ตลอดแนวรู้จักการวิจัยและพัฒนางาน (Research and Development) และรู้จักนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทางการบริหารมาใช้ในการพัฒนางานอยู่เสมอ มีผู้กำหนดประเภทของผู้บริหารเป็น 4 ประเภท ดังนี้
                  ประเภทที่ 1 งานก็ไม่สน    คนก็ไม่สร้าง               (ไม่ได้ทั้งงานและไม่ได้ทั้งคน)
                  ประเภทที่ 2 งานสน           แต่คนไม่สร้าง             (ได้งาน แต่ไม่ได้คน)
                  ประเภทที่ 3 งานไม่สน      แต่คนสร้าง                  (ได้คน แต่ไม่ได้งาน)
                  ประเภทที่ 4 งานก็สน        คนก็สร้าง                     (ได้ทั้งคน และได้ทั้งงาน)
        โดยปกติทั่ว ๆ ไป เรามักจะพบเห็นผู้บริหารประเภทที่  1หรือ 2 หรือ 3 ส่วนประเภทที่ 4 นั้นหายากแต่อยากจะเรียนว่า   ถ้าบริหารแล้วได้ทั้งงานและได้ทั้งคน คือสุดยอดของนักบริหาร มีคำกลอนน่าคิดว่า
                                    "ไม่มีองค์การเยี่ยม              แต่ผู้บริหารแย่ 
                                    และไม่มีองค์การแย่            แต่ผู้บริหารเยี่ยม"
                ดังนั้นผู้บริหารมืออาชีพต้องพัฒนาตน พัฒนาคน และพัฒนางาน เพื่อให้ภารกิจขององค์การบรรลุผลสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผลให้จงได้ บริหารแล้ว ลูกน้องพอใจได้งาน ผู้บริหารก็เป็นสุขหรืองานบรรลุ คนก็เป็นสุขนั่นเอง