5 กุมภาพันธ์ 2558

ประสิทธิผลโรงเรียน


ประสิทธิผลโรงเรียน

ประสิทธิผลโรงเรียน
วีรพงษ์ ไชยหงษ์
นักวิชาการได้ให้ความหมายของประสิทธิผล (Effectiveness) ไว้หลายทัศนะ ดังนี้
                วิทยา ด่านธำรงกูล (2546 : 27) ได้ให้ความหมาย ประสิทธิผล หมายถึง ความสามารถในการเลือกเป้าหมายที่เหมาะสมและบรรลุเป้าหมายนั้นๆ ประสิทธิผลจึงวัดกันที่ว่าองค์การสามารถสนองผู้บริโภคสินค้าหรือบริการที่เป็นที่ต้องการหรือไม่ และสามารถบรรลุในสิ่งที่พยามยามจะทำมากน้อยเพียงใด
                เสริมศักดิ์ วิศาลาภรณ์ (2546 : 169) กล่าวว่า ประสิทธิผล หมายถึง ผลสำเร็จหรือผลที่เกิดของงานตามวัตถุประสงค์
วิจลน์ โกษาแสง (2548 : 43) กล่าวว่า ประสิทธิผลหมายถึง การทำงานที่มุ่งให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายที่องค์การกำหนดไว้
                กิบสัน และคณะ (Gibson and others, 1982) นิยาม ประสิทธิผล ว่า ประสิทธิผลเป็นเรื่องของการกระทำใดๆ ที่มีความมุ่งหมายจะได้รับผลอะไรสักอย่างให้เกิดขึ้น การกระทำหรือความพยายามจะมีประสิทธิผลสูงต่ำเพียงใด ขึ้นกับว่าผลที่ได้รับตรงนั้น ตรง ครบถ้วน ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ และใช้พลังงานน้อยเพียงใด
                ฮอย และมิสเกล (Hoy and Miskel, 1991 : 379) ได้กล่าวถึง ประสิทธิผล ว่าหมายถึงผลสำเร็จที่บรรลุตามจุดประสงค์ขององค์การทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
                โดยสรุปตามแนวคิดประสิทธิผลที่กล่าวมาหมายถึงการทำงานให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ขององค์การ โดยมีการใช้ทรัพยากรทางการบริหารให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
ความหมายของประสิทธิผลองค์การ ประสิทธิผลโรงเรียน
                ประสิทธิผลองค์การ (Organization Effectiveness) มีความสำคัญยิ่งในการบริหารองค์การ เป็นการตัดสินใจว่าการบริหารองค์การจะสำเร็จหรือไม่เพียงใด โรงเรียนถือเป็นองค์การในระบบสังคมหนึ่ง ในที่นี้จะกล่าวถึงประสิทธิผลของโรงเรียนในความหมายเดียวกับประสิทธิผลองค์การ
มีนักการศึกษาได้ให้ความหมายของคำว่าประสิทธิผลองค์การ ประสิทธิผลโรงเรียนไว้แตกต่างกัน ส่วนใหญ่มุ่งผลสำเร็จของงานหรือการทำงานให้บรรลุวัตถุประสงค์  ดังนี้
               มนตรี บุญธรรม (2544 : 33) ให้ความหมายของ ประสิทธิผลโรงเรียน คือความสามารถของโรงเรียนในการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนมีคุณภาพด้านการศึกษาและมีผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมายของโรงเรียนและตรงตามความต้องการของของสังคมด้วย
               สุรชัย ช่วยเกิด (2547 : 17) ได้กล่าวว่า ประสิทธิผลโรงเรียน คือการดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายของโรงเรียนที่ตั้งไว้ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ (Outcome) ของการปฏิบัติงานในโรงเรียน
ภารดี อนันต์นาวี (2551 : 204) ให้ความหมาย ประสิทธิผลองค์การ หมายถึงการที่องค์การได้ดำเนินงานใดๆโดยการใช้ทรัพยากรต่างๆจนเกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายต่างๆที่องค์การตั้งไว้
                เบนนิส (Bennis, 1971 cited in Dessler, 1986 : 68 - 69) ได้เสนอไว้ว่า ประสิทธิผลขององค์การหรือของโรงเรียน เป็นความสามารถในการวิวัฒนาการโรงเรียนให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และความสามารถในการประสานงานเพื่อความสัมพันธ์ของสมาชิกในองค์การให้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในการปฏิบัติภารกิจของโรงเรียน
                รอบบินส์ (Robbins, 1990) ให้ความหมายว่า ประสิทธิผลขององค์การ คือระดับที่องค์การบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ 
                ซีชอร์ และยุชท์แมน (Seashore and Yuchtman, 1967 : 393 cited in Hall, 1991 : 249)  อธิบายว่าประสิทธิผลขององค์การ คือความสามารถขององค์การในการแสวงหาผลประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้ทรัพยากรที่หาได้ยากและมีคุณค่า เพื่อจะนำไปใช้สนับสนุนการดำเนินการขององค์การ
จากที่กล่าวมาสรุปได้ว่า ประสิทธิผลโรงเรียน หมายถึง การดำเนินการจัดการศึกษาของโรงเรียนให้บรรลุตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ซึ่งเป็นผลลัพธ์ของโรงเรียน โดยผู้นำเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินการ ประสานงานกับบุคลากรและทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้เรียนมีคุณภาพและตรงตามความต้องการของสังคม
ความสัมพันธ์ของประสิทธิผลและประสิทธิภาพ
เมื่อกล่าวถึง “ประสิทธิผล” (Effectiveness) และ “ประสิทธิภาพ” (Efficiency) มีผู้ให้ความหมายแตกต่างกัน สรุปได้ดังนี้
               เอทซิโอนิ (Etzioni, 1967) ให้ความหมายของประสิทธิผลว่าการบรรลุเป้าหมาย และให้ความหมายของประสิทธิภาพในลักษณะของเศรษฐศาสตร์คือทรัพยากรต่างๆที่ใช้ในการผลิตต่อผลผลิตหนึ่งหน่วย บาร์นาร์ด (Barnard, 1968) ให้ความหมายของประสิทธิผลว่าการบรรลุเป้าหมายขององค์การ และให้ความหมายของประสิทธิภาพว่าความพึงพอใจและความร่วมมือในการปฏิบัติงานของสมาชิกในองค์การ รุ่ง แก้วแดง และชัยณรงค์ สุวรรณสาร (2536 : 169) ได้ให้แนวคิดเกี่ยวกับประสิทธิผลว่า ประสิทธิผลมีความสำคัญกับผลงานที่องค์การพึงประสงค์ หรือหมายถึงความสำเร็จของผลการปฏิบัติงานที่เป็นไปหรือบรรลุตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ขององค์การ ดังนั้นประสิทธิผลจึงหมายถึงผลสำเร็จหรือผลที่เกิดขึ้นของงานนั้นและต้องตอบสนองหรือบรรลุตามวัตถุประสงค์ขององค์การ นอกจากนี้ยังได้เปรียบเทียบให้เห็นระหว่างประสิทธิภาพและประสิทธิผลมีความแตกต่างกันคือ ประสิทธิผลหมายถึงผลสำเร็จหรือผลที่เกิดขึ้นของงาน ส่วนประสิทธิภาพหมายถึงความสามารถที่ทำงานให้เกิดผลสำเร็จ การที่จะกล่าวว่าองค์การมีประสิทธิผลโดยคำนึงถึงแต่ผลสำเร็จที่เกิดขึ้นของงานเพียงอย่างเดียวย่อมไม่ถูกต้อง จะต้องพิจารณาลึกลงไปอีกว่าผลสำเร็จของงานนั้นสนองตอบหรือบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์การหรือไม่ เพราะบางครั้งพบว่าองค์การประสบความสำเร็จ แต่มีการใช้ทรัพยากรในด้านเงินลงทุน ระยะเวลา และบุคลากรเกินความจำเป็น ดังนั้นการวิเคราะห์ประสิทธิผลองค์การจึงจำเป็นจะต้องพิจารณาประสิทธิภาพควบคู่กันไป สถาพร ปิ่นเจริญ (2545) กล่าวว่า สองคำนี้แตกต่างกันในแง่ความหมายและในแง่ของการนำไปใช้ แต่ไม่อาจแตกต่างกันมากนักห่างมองในเชิงของความสำเร็จในการบริหารที่มุ่งบรรลุจุดมุ่งหมายขององค์การเป็นสำคัญ ประสิทธิภาพมุ่งเน้นตัวชี้วัดผลตอบแทนที่เป็นตัวเงิน แต่งานบางอย่างไม่สามารถวัดประสิทธิภาพได้โดยตรง ส่วนประสิทธิผลหมายถึงการกระทำใดๆ ที่ได้บรรลุจุดมุ่งหมายตามที่ได้กำหนดไว้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าประสิทธิภาพเป็นส่วนหนึ่งของประสิทธิผล แม้ว่าประสิทธิภาพและประสิทธิผลจะมีความ สัมพันธ์กันอย่างมาก แต่ประสิทธิภาพเป็นเพียงส่วนประกอบที่จำเป็นของประสิทธิผลเท่านั้น (Steers, 1977 : 55)
ความสำคัญของประสิทธิผล
ประสิทธิผลมีความสำคัญต่อองค์การดังนี้ (ธงชัย สันติวงษ์, 2537 อ้างถึงใน ภารดี อนันต์นาวี, 2551 : 204)
1. ช่วยตรวจสอบวัตถุประสงค์กับการจัดตั้งองค์การ การจัดตั้งองค์การย่อมกำหนดวัตถุประสงค์และเป้าหมายไว้อย่างชัดเจน เพื่อดำเนินงานให้เป็นไปตามความต้องการหรือไม่
2. ประเมินผลการดำเนินงานกับแผนงานที่กำหนด การดำเนินงานในแต่ละกิจกรรมย่อมต้องมีการวางแผน กำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบ การจัดสรรทรัพยากร การใช้อำนาจหน้าที่การบริหาร การปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงาน
3. ประเมินผลสำเร็จกับวัตถุประสงค์ เปรียบเทียบผลงานที่ดำเนินการได้ตามแผนงานกับวัตถุประสงค์ขององค์การที่คาดหวัง ถ้าผลของงานบรรลุผลตามวัตถุประสงค์และความคาดหวังขององค์การ แสดงว่าองค์การมีประสิทธิผล
การประเมินประสิทธิผลของโรงเรียน
                การประเมินประสิทธิผลโรงเรียนเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็น เพื่อดูความแตกต่างระหว่างความคาดหวังหรือเป้าหมายที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับผลลัพธ์จากการปฏิบัติงาน (วิจลน์ โกษาแสง, 2548 : 45) การจะประเมินว่าโรงเรียนใดว่าประสบผลสำเร็จหรือไม่ จึงควรเปรียบเทียบระหว่างวัตถุประสงค์ของโรงเรียนกับผลการดำเนินงานนั้นๆ (Madaus and others, 1980) ดังนั้นโรงเรียนจะมีประสิทธิผลถ้าผลการดำเนินกิจกรรมต่างๆที่ตั้งไว้บรรลุตามเป้าหมายหรือเกินเป้าที่ตั้งไว้ (Hoy and Miskel, 2005 : 276)
การประเมินประสิทธิผลของโรงเรียน สามารถแยกแนวทางในการประเมินหรือวัดประเมินผลได้เป็น 3 แนวทาง ดังนี้ ( Hoy and Miskel, 2001 : 293 - 297)
                1. การประเมินประสิทธิผลในแง่ของเป้าหมาย (Goal Model of Organizational Effectiveness) เป็นการพิจารณาว่าองค์การจะมีประสิทธิผลหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับผลที่ได้รับว่าบรรลุเป้าหมายองค์การหรือไม่ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นการใช้เป้าหมายองค์การเป็นเกณฑ์ ให้ความสำคัญกับการบรรลุเป้าหมายหรือผลสุดท้ายมากกว่าวิธีการ ดังนั้นผู้บริหารในองค์การจะต้องกำหนดเป้าหมายที่สามารถทำได้ หรือเป้าหมายที่เป็นจริงที่สามารถวัดได้  
                2. การประเมินประสิทธิผลในแง่ของระบบทรัพยากร (The System Resource Model of  Organizational Effectiveness) เป็นการประเมินโดยพิจารณาความสามารถขององค์การในการแสวงหาผลประโยชน์จากสภาพแวดล้อมเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรที่ต้องการ อันจะทำให้บรรลุเป้าหมายขององค์การ รวมทั้งเป็นความสามารถขององค์การที่จะนำทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดและมีคุณค่าจากสภาพแวดล้อมมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อสนับสนุนการดำเนินการขององค์การ ซึ่งเป็นการเน้นปัจจัยตัวป้อนเข้า (Input) มากกว่าผลผลิต (Output)
                3. การประเมินประสิทธิผลตามรูปแบบบูรณาการที่ยึดการบรรลุเป้าหมายและรูปแบบระบบทรัพยากร (An Integrated Goal and System – Resource Model of Effectiveness) โดยเน้นลักษณะสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ มิติเวลา กลุ่มผู้เกี่ยวข้อง และใช้เกณฑ์ประเมินหลายเกณฑ์ ดังนี้
                                3.1 มิติเวลา (Time) การประเมินปริทธิผลของสถานศึกษาต้องคำนึงถึงมิติเวลาเป็นสำคัญ เพราะการประเมินในช่วงเวลาต่างกัน อาจทำให้ผลการประเมินแตกต่างกัน
                                3.2 กลุ่มผู้เกี่ยวข้อง (Multiple Constituencies) เป็นกลุ่มคนทั้งภายในและภายนอกองค์การที่สนใจผลขององค์การ สำหรับเกณฑ์ประสิทธิผลจะสะท้อนความคิดและค่านิยมของกลุ่มผู้เกี่ยวข้อง เกณฑ์ที่กำหนดขึ้น จึงเกิดจากการเชื่อมโยงความคิดของผู้เกี่ยวข้อง
                                3.3 การประเมินประสิทธิผลโดยใช้หลายเกณฑ์ (The Multiple Criteria of Effectiveness) เป็นการวิเคราะห์ประสิทธิผลองค์การโดยใช้เกณฑ์หลายอย่างในการวัดประเมินผล เรียกว่า การวัดประสิทธิผลเชิงซ้อน (Multiple Effectiveness Measurement) พิจารณาตัวแปรหลักที่อาจมีผลต่อความสำเร็จขององค์การและพยายามแสดงให้เห็นว่าตัวแปรต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กัน การวัดประสิทธิผลวิธีนี้เกิดจากแนวคิดที่ว่าองค์การเป็นระบบสังคมที่มีชีวิต มีความต้องการหรือข้อเรียกร้อง ซึ่งองค์การจะต้องจัดหาเพื่อความอยู่รอดหรือเพื่อทำงานที่มีประสิทธิผล
มีผู้ให้แนวคิดในการประเมินผลองค์การหลากหลายแตกต่างกัน ดังต่อไปนี้
1.  เปาน์เดอร์ (Pounder, 1999 : 389 อ้างถึงใน พร ภิเศก, 2546 : 94)  ได้ศึกษาเกณฑ์การวัดประสิทธิผลองค์การตามกรอบความคิดการแข่งขันคุณค่า มีมิติประสิทธิผล 9 ด้าน คือ 
1) ผลผลิต - ประสิทธิภาพ 
2) คุณภาพ 
3) ความสามัคคี - ขวัญ
4) ความพร้อม - การปรับตัว
5)การจัดการข่าวสาร -  การติดต่อสื่อสาร
6) ความเจริญเติบโต - ความสามารถในการแสวงหาทรัพยากร
7) การวางแผน - กำหนดเป้าหมาย
8) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
9) ความมั่นคง - การควบคุม
2.  กิบสัน และคณะ (Gibson and others, 1979 : 27 อ้างถึงใน สุวัฒน์ วิวัฒนานนท์, 2548 : 21)  ได้ศึกษาและกำหนดเกณฑ์ในการประเมินประสิทธิผลขององค์การโดยใช้หลายเกณฑ์  คือ 
1) ความสามารถในการผลิต 
2) ประสิทธิภาพ  
3) ความพึงพอใจ 
4) ความสามารถในการปรับตัว 
5) การพัฒนาและการอยู่รอด
3. ฮอย และเฟอร์กูสัน  (Hoy and Ferguson, 1985 : 131) ได้พิจารณาประสิทธิผลจาก
1)  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูง 
2)  การจัดสรรทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพ 
3)  ความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพแวดล้อม 
4)  ความพึงพอใจในการทำงานของครู
4.  พาร์สัน (Parsons, 1960 cited in Hall, 1991 : 263 - 264) เสนอแนวคิดในการวัดประสิทธิผลขององค์การไว้  ดังนี้ 
1) การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อม
2) การบรรลุเป้าหมาย
3) การบูรณาการ  
4) การคงไว้ซึ่งระบบค่านิยม
5.  แนวคิดของ ฮอย และมิสเกล (Hoy and Miskel, 1991 : 384 - 397) เสนอแนวคิดในการประเมินประสิทธิผลขององค์การพิจารณาจาก
1) ความสามารถในการปรับเปลี่ยนพัฒนา 
2) การบรรลุเป้าหมาย 
3) ความพึงพอใจในการทำงาน 
4) ความสนใจในชีวิต
6. รอบบินส์ (Robbins, 1997 : 46 - 49) ได้สร้างเกณฑ์ประเมินประสิทธิผลองค์การที่ครอบคลุมเกณฑ์ต่างๆ ตามลักษณะของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder) มีเกณฑ์ดังนี้
1) การวัดผลทางการเงิน 
2) ผลผลิต 
3) ความเจริญเติบโตขององค์การ
4) ความพึงพอใจของผู้รับบริการ
5) คุณภาพของสินค้า
6) ความยืดหยุ่น
7) ความก้าวหน้าและความพึงพอใจของบุคลากร
8) การให้การยอมรับของสังคม
7. กิลแฮม (Gillham, 2000) เสนอเกณฑ์การวัดประสิทธิผลของโรงเรียน ดังนี้
1) มีพันธกิจชัดเจน
2) สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเป็นระเบียบเรียบร้อย  
3) บรรยากาศที่มีความคาดหวังสูงในความสำเร็จ
4) โอกาสและเวลาในการเรียนรู้
5) ความเป็นผู้นำทางวิชาการ
6) การส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างบ้านและโรงเรียน
8.  แนวคิดของ มอท (Mott, 1972 cited in Hoy and Miskel, 2001 : 305 - 307) กล่าวถึงประสิทธิผลของโรงเรียน 4 ประการ คือ 
1) ความสามารถในการผลิตนักเรียนที่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูง 
2) ความสามารถในการพัฒนานักเรียนให้มีทัศนคติทางบวก 
3) ความสามารถในการพัฒนาปรับเปลี่ยนโรงเรียนให้เข้ากับสภาพแวดล้อม  
4) ความสามารถในการแก้ปัญหาในโรงเรียน
9. แนวคิดของ เลอซอท (Lezotte, 2001 : 3 - 7) ได้ศึกษาตัวแปรที่สัมพันธ์กับโรงเรียนที่มีประสิทธิผล ประกอบด้วย
1) ภาวะผู้นำทางวิชาการ 
2) พันธกิจที่ชัดเจนและมุ่งเน้น 
3)  สภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเป็นระเบียบ
4) บรรยากาศที่มีความคาดหวังสูงต่อผู้เรียน 
5) ติดตามความก้าวหน้าของผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ  
6) มีความสัมพันธ์ระหว่างบ้านและโรงเรียนในเชิงบวก 
7) สร้างโอกาสการเรียนรู้ให้กับนักเรียน
10.  แนวคิดของ เซอร์จิโอแวนนิ (Sergiovanni, 2001) ได้เสนอแนวคิดว่าโรงเรียนที่มีประสิทธิผลมีลักษณะ ดังนี้ 
1) เน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง 
2) มีแผนงานทางวิชาการที่ดี 
3) จัดการเรียนการสอนที่ส่งเสริมการเรียนรู้ของนักเรียน 
4) มีบรรยากาศโรงเรียนในทางบวก 
5) ส่งเสริมความมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันแบบเป็นกลุ่ม 
6) มีการพัฒนาบุคลากร 
7) ใช้ภาวะผู้นำแบบมีส่วนร่วม 
8) ส่งเสริมการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ 
9) ผู้ปกครองและชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม
11. ออร์นสติน และเลอไวน์ ( Ornstein and Levine, 2003 cited in Lunenburg and Ornstein, 2004 : 409 - 410) เสนอเกณฑ์ที่สามารถใช้วัดประสิทธิผลของโรงเรียน คือ
1) ความปลอดภัยและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน
2) พันธกิจของโรงเรียนที่ชัดเจน
3) ภาวะผู้นำทางวิชาการ
4) บรรยากาศที่มีความคาดหวังสูง
5) การให้เวลามากในการปฏิบัติภารกิจของโรงเรียน
6) มีการติดตามการตรวจสอบความก้าวหน้าของนักเรียนสม่ำเสมอ
7) การมีความสัมพันธ์ระหว่างบ้านกับโรงเรียนในทางบวก
12.  แนวคิดของ เอดมอนส์ (Edmonds, 1979 cited in Hoy and Miskel, 2005 : 281) เสนอว่าควรประเมินประสิทธิผลจาก  
1) ภาวะผู้นำทางวิชาการ 
2) ความคาดหวังสูงของครูต่อความสำเร็จของนักเรียน 
3) เน้นทักษะพื้นฐาน 
4) ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสิ่งแวดล้อมในโรงเรียน
5) มีการประเมินความก้าวหน้าของนักเรียนอย่างเป็นระบบและสม่ำเสมอ 
13. ฮอย และมิสเกล ได้ศึกษางานวิจัยของ สมิธ และเพอร์กี้ และ ชีเรนส์ และโบสเกอร์ (Smith and Purkey, 1983 ; Scheerens and Bosker, 1997 cited in Hoy and Miskel, 2005 : 281) เกี่ยวกับประสิทธิผลโรงเรียน และซึ่งงานวิจัยของทั้งสองท่านมีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน ดังนี้
                                                องค์ประกอบประสิทธิผลของโรงเรียน
ตามแนวคิดของ ชีเรนส์ และโบสเกอร์                              ตามแนวคิดของ สมิธ และเพอร์กี้
 1) ภาวะผู้นำทางการศึกษา                                           1) ภาวะผู้นำทางวิชาการ
 2) คุณภาพของหลักสูตร/โอกาสในการเรียนรู้                   2) การวางแผนและกำหนดเป้าหมายของหลักสูตร 
3) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน                                            3) เป้าหมายของโรงเรียนมีความชัดเจน   และมีความคาดหวังสูง
4) ระยะเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้                                        4) การใช้เวลา ในการปฏิบัติภารกิจของโรงเรียน
5) ผลย้อนกลับและการเสริมแรง                                     5) ชื่อเสียงของความสำเร็จทางวิชาการ
6) บรรยากาศในชั้นเรียน                                                6) บรรยากาศที่ดี      
7) บรรยากาศในโรงเรียน                                               7) ใส่ใจในชุมชน
8) การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง                                        8) การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง
9) การเรียนรู้แบบอิสระ                                                  9) การบริหารจัดการ
10) การประเมินศักยภาพของบุคคล                                 10) การพัฒนาบุคลากร
11) ความสามัคคี                                                         11) ความมั่นคงในหน้าที่การงาน
12) มีโครงสร้างงานที่ชัดเจน                                           12) การมีส่วนร่วมในการวางแผน
13) มีการปรับโครงสร้างงานที่เหมาะสม                             13) การสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น
14. แนวคิดของ ฮอย และมิสเกล (Hoy and Miskel, 2005 : 274)  ได้เสนอแนวคิดในการประเมินประสิทธิผลขององค์การ 3 มิติ โดยพิจารณาจาก 
1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน 
2) ความพึงพอใจในการทำงานของบุคลากร 
3) การจัดการคุณภาพของโรงเรียนโดยรวม