5 กุมภาพันธ์ 2558

วิสัยทัศน์ เขียนย้าย

ข้าพเจ้านายวีรพงษ์ ไชยหงษ์  ได้กำหนดกรอบแนวคิดวิสัยทัศน์และแนวทางของภาวะผู้นำที่สามารถนำองค์กรสู่ความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
                วิสัยทัศน์   มุ่งมั่นพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ เป็นโรงเรียนดีมีคุณภาพของชุมชน โดยแสวงหาการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนเพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา พัฒนาศักยภาพครู บุคลากร และพัฒนาสมรรถนะผู้เรียนให้ถึงพร้อมด้วยคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล
                แนวทางของภาวะผู้นำที่สามารถนำองค์กรสู่ความสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ
                โดยใช้  รูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ ดังแผนภูมิ



จากแผนภูมิการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ จำแนกออกเป็น 7 ขั้นตอน รายละเอียด ดังนี้
                1. การศึกษาความต้องการจำเป็น กรรมการยุทธศาสตร์ ศึกษาความต้องการในการพัฒนาตนเองของครูและบุคลากร ศึกษาความต้องการของผู้เรียนในการเรียนรู้และรับบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพ ศึกษาความต้องการของผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ปกครอง ชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และนโยบายของหน่วยงานต้นสังกัด ผลการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ. และผลการประเมินติดตามตรวจสอบคุณภาพภายในจากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ตลอดจนสภาพปัญหาต่างๆ ที่ผ่านมา เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไข พัฒนา 
                2. การจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา กรรมการยุทธศาสตร์ดำเนินการศึกษาความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน อันประกอบด้วย ครู บุคลากรทางการศึกษา นักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษา และชุมชน มีส่วนร่วมดำเนินการ โดยกำหนดเป็นขั้นตอนดังนี้
                                1) ทบทวนภารกิจการจัดการศึกษาของสถานศึกษาและศึกษาข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้อง
                                2) วิเคราะห์สภาพแวดล้อมของสถานศึกษาที่มีผลกระทบต่อการจัดการศึกษา (SWOT) และประเมินสภาพของสถานศึกษา
                                3) กำหนดวิสัยทัศน์ (Vision) พันธกิจ (Mission) และเป้าประสงค์ (Corporate Objective) ของสถานศึกษา
                                4) กำหนดกลยุทธ์ของสถานศึกษา
                                5) กำหนดผลผลิต (Outputs) ผลลัพธ์ (Outcomes) และตัวชี้วัดความสำเร็จ (Key Performance Indicators : KPIs) โดยจัดทำเป็นข้อมูลสารสนเทศ                         
                                6) กำหนดเป้าหมายระยะปานกลางของผลผลิตในเชิงปริมาณ คุณภาพ และผลลัพธ์ที่สอดคล้องกับผลการปฏิบัติงานของสถานศึกษาที่จะทำร่างข้อตกลงกับเขตพื้นที่การศึกษา
                                7) จัดทำรายละเอียดโครงสร้าง แผนงาน งาน/โครงการ และกิจกรรมหลัก
                                8) จัดให้รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงและนำเสนอขอความเห็นชอบต่อคณะกรรมการสถานศึกษา
                                9) เผยแพร่ ประกาศต่อสาธารณชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง  
                
3. การกำหนดเจ้าภาพรับผิดชอบ ผู้บริหารสถานศึกษา ศึกษาข้อมูล ประมวลผล พิจารณาตัดสินใจดำเนินการ ทบทวนปรับเปลี่ยน แต่งตั้งบุคลากรให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ต่างๆ โดยความสมัครใจ และความเห็นชอบจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยสถานศึกษามีแผนพัฒนาบุคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บุคลากรปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                4. การบริหารจัดการ  ข้าพเจ้าในฐานะผู้บริหารสถานศึกษามีหลักการดำเนินงาน ดังนี้                                1) เน้นคุณภาพนักเรียนเป็นเป้าหมายสูงสุดในการบริหารสถานศึกษา

                               2) ใช้มาตรฐานการศึกษาของชาติและมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ มีระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาที่เข้มแข็ง เน้นการยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน โดยเฉพาะผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (O - NET) ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จะต้องไม่ต่ำกว่าค่าคะแนนเฉลี่ยของระดับเขตพื้นที่การศึกษา
                               3) ยึดหลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (SBM) เป็นกรอบกำกับการบริหาร
                               4) บริหารสถานศึกษาตามหลักธรรมมาภิบาล (Good Governance) ซึ่งประกอบด้วย หลักนิติธรรม คุณธรรม ความโปร่งใส การมีส่วนร่วม ความรับผิดชอบและหลักความคุ้มค่า
                               5) ใช้กระบวนการกลุ่มในการทำงานและแก้ปัญหา เน้นการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง
                               6) พัฒนาโรงเรียนให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ มีสมรรถภาพในการจัดการความรู้
                               7) ใช้กรอบแนวทางจากยุทธศาสตร์ชาติ แผนบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล กฎหมาย ระเบียบ แบบแผนที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา โดยปรับให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา ความต้องการของสถานศึกษา
                5. การสร้างมูลค่าเพิ่ม  ครอบคลุมทั้ง 3 ส่วน ได้แก่ ผู้เรียน ครูและบุคลากร และสถานศึกษา
                                5.1) พัฒนาผู้เรียนให้พร้อมด้วยคุณลักษณะเป็นคนดีมีคุณภาพตามมาตรฐานการศึกษา มีสมรรถนะสำคัญ ได้แก่ ทักษะด้านการสื่อสาร การคิด การแก้ปัญหา ทักษะชีวิต และสามารถใช้เทคโนโลยีได้ มีสุนทรียภาพด้านศิลปะ ดนตรี และกีฬา มีความภาคภูมิใจในตนเอง มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของสถานศึกษาตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รวมถึงมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมอาเซียน และสามารถใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารได้
                                5.2) พัฒนาศักยภาพครูและบุคลากร ด้วยวิธีการที่หลากหลายเพื่อให้เกิดสมรรถนะสูงสุดในการปฏิบัติงาน สถานศึกษามีแผนพัฒนาบุคลากรเพื่อส่งผลให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามเป้าหมายของสถานศึกษา มีความก้าวหน้าในวิชาชีพและวิทยฐานะ
                                5.3) พัฒนาสถานศึกษา โดยระดมทรัพยากรและแสวงหาการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ด้วยการร่วมคิด ร่วมวางแผน ร่วมดำเนินการ ร่วมสนับสนุน ร่วมประเมินผล ร่วมรับผิดชอบ ร่วมรับประโยชน์ และร่วมชื่นชมยินดีกับความสำเร็จ เพื่อพัฒนาความพร้อมของทรัพยากรทางการศึกษา ได้แก่ บุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ที่เพียงพอ และระบบการจัดการที่ดีเอื้อต่อการพัฒนาสถานศึกษา มีแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย มีบรรยากาศการเรียนรู้และวัฒนธรรมการทำงานที่มีคุณภาพ เป็นระบบ
                6. การประเมินผลทั้งระบบ 360 องศา สถานศึกษาออกแบบและมีเครื่องมือประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการ กิจกรรมที่หลากหลายมิติ บอกถึงระดับความพึงพอใจและประสิทธิผล เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมประเมินผล มีการสะท้อนผลการดำเนินงาน เพื่อนำไปสู่การปรับปรุง แก้ไข พัฒนา ในการดำเนินงานครั้งต่อไป
                7. กระบวนการพัฒนา กรรมการยุทธศาสตร์ทำหน้าที่ วิเคราะห์ติดตาม การดำเนินการวางแผน ปฏิบัติตามแผน ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล สรุปผล และทบทวน แก้ไข ปรับปรุง พัฒนา ทั้งระบบ มีการถอดบทเรียน (After Action Review : AAR) การจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อปรับปรุงแก้ไข พัฒนาจุดอ่อน ธำรงรักษาจุดแข็ง เสริมสร้างโอกาสและขจัดอุปสรรค โดยมีเป้าหมายให้วงจรคุณภาพ  PDCA สามารถขับเคลื่อนและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อสิ้นสุดปีการศึกษา และเริ่มต้นสู่วงจรคุณภาพใหม่ในปีการศึกษาต่อไป
                ข้าพเจ้าเชื่อว่า รูปแบบการบริหารสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ ดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้ โดยกระบวนการมีส่วนร่วม (Participative Management) แสวงหาความร่วมมือจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งจากภายในและภายนอกสถานศึกษา ผู้บริหารเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้นำทางวิชาการ คณะครู และกรรมการสถานศึกษาร่วมสนับสนุน คอยช่วยเหลือตลอดทั้งกำกับติดตาม เพื่อที่จะนำไปสู่เป้าหมายปลายทาง คือ “สถานศึกษาที่เป็นเลิศ” เชื่อได้ว่าจะเกิดผลสัมฤทธิ์ คือ ผู้เรียนคุณภาพ ครูคุณภาพ และเป็นสถานศึกษาที่มีคุณภาพ ตามความมุ่งหวังได้อย่างแน่นอน