5 กุมภาพันธ์ 2558

แนวคิดพัฒนาโรงเรียน


การพัฒนาโรงเรียน
“แนวคิดในการพัฒนาโรงเรียน”
          โรงเรียนเป็นสถาบันทางสังคมที่มีหน้าที่จัดการศึกษาเพื่อพัฒนานักเรียนให้มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ มีความรู้ คุณธรรม  จริยธรรม สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ภารกิจของสถานศึกษาจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ในยุคของโลกาภิวัตน์ที่สังคมโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว สถานศึกษาซึ่งมีหน้าที่เตรียมและพัฒนาคน จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดรูปแบบการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องให้มีความเป็นเลิศเพื่อให้สามารถพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ได้อย่างมีคุณภาพ
          การที่จะพัฒนาสถานศึกษาเพื่อไปสู่ความเป็นเลิศนั้น ต้องอาศัยปัจจัย องค์ประกอบ และกระบวนการหลายอย่าง ต่อไปนี้คือ แนวคิดของข้าพเจ้าเกี่ยวกับการพัฒนาสถานศึกษาเพื่อให้เป็นเลิศซึ่งจะกล่าวในประเด็นต่างๆ ดังนี้
          1.บทบาทของผู้บริหารต่อการพัฒนาโรงเรียนสู่ความเป็นเลิศ
            ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าผู้บริหารโรงเรียนเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุด ที่จะนำพาสถานศึกษาไปสู่ความเป็นเลิศ เพราะเป็นผู้นำที่มีอำนาจสูงสุดในโรงเรียน ผู้บริหารจึงต้องมีความรอบรู้ในการบริหาร มีวิสัยทัศน์ มีความสามารถ รับผิดชอบ ซื่อสัตย์ โปร่งใส เอาใจใส่และทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างจริงจัง

            ผู้บริหารที่จะเป็นผู้นำพัฒนาโรงเรียนสู่ความเป็นเลิศ ควรมีลักษณะดังนี้
                1.ยึดคุณภาพนักเรียนเป็นเป้าหมายสูงสุดในการบริหารสถานศึกษา
                2. ใช้มาตรฐานการศึกษาของชาติ และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นแนวทางในการบริหารจัดการ
                3.ยึดหลักการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (SBM) เป็นกรอบกำกับการบริหาร
                4.ยึดหลักธรรมมาภิบาล (Good Governance) ซึ่งประกอบด้วย หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า เป็นหลักในการบริหารอย่างต่อเนื่อง ตลอดทั้งมีจรรยาบรรณวิชาชีพบริหาร
                5.ใช้กระบวนการกลุ่มในการทำงานและแก้ปัญหา เน้นการมีส่วนร่วมของทุกคนที่เกี่ยวข้อง
                6.พัฒนาโรงเรียนให้เป็นองค์การแห่งการเรียนอย่างแท้จริง มีสมรรถภาพในการจัดการความรู้
                7.ใช้กรอบแนวทางจากยุทธศาสตร์ชาติ แผนบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล กฎหมาย ระเบียบ แบบแผนที่เกี่ยวข้องในการจัดการศึกษา โดยปรับให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา  ของความต้องการของสถานศึกษา
           2.ลักษณะสถานศึกษาที่เป็นเลิศ
             ตามแนวคิดของข้าพเจ้า โรงเรียนหรือสถานศึกษาที่มีความเป็นเลิศนั้น จะต้องมีสังคมบรรยากาศ และสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้เป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ มีความพร้อมในด้านทรัพยากร วัตถุ เทคโนโลยี งบประมาณ และทรัพยากรบุคคล สามารถจัดการศึกษาได้อย่างดี ทั้งในด้านการบริหารจัดการและการจัดการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพตามมาตรฐานกำหนด และได้รับการพัฒนาอย่างครบถ้วนทุกด้าน เป็นคนดี คนเก่ง มีความสุข เป็นโรงเรียนที่สามารถจัดการศึกษาสอดคล้องกับความต้องการของชุมชน เป็นที่ชื่นชมของชุมชน
              ลักษณะสถานศึกษาหรือโรงเรียนที่มีความเป็นเลิศ จะเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบต่างๆ ของโรงเรียนทั้งส่วนที่เป็นบริบท (Context) ปัจจัยนำเข้า (Input) กระบวนการ (Process) และผลผลิต (Output หรือ Product) ซึ่งเป็นแนวคิดการใช้องค์ประกอบเชิงระบบ (System Approach) เข้ามาเป็นกรอบการพิจารณาดังนี้
องค์ประกอบ
ลักษณะที่เป็นเลิศ

ด้านบริบท
(Context)

 สภาพแวดล้อม สภาพแวดล้อมภายนอกของโรงเรียนดี มีสังคม บรรยากาศ
 สิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวยต่อการจัดการศึกษา

ด้านปัจจัยนำเข้า
(Input)

  ทรัพยากรบุคคล ผู้บริหาร ครู เป็นบุคลากรมืออาชีพ
  ทรัพยากรวัตถุ เทคโนโลยี และงบประมาณ- ทรัพยากรวัตถุ เทคโนโลยี และงบประมาณได้มาตรฐาน เหมาะสม
  ทันสมัยและเพียงพอ
- หลักสูตรเหมาะสมกับผู้เรียนและท้องถิ่น- แหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนหลากหลาย- การบริหารงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงานยุทธศาสตร์

ด้านกระบวนการ
(Process)

 กระบวนการเรียนรู้ เน้นผู้เรียนสำคัญที่สุด
 กระบวนการบริหารจัดการ โดยเน้นโรงเรียนเป็นฐาน เน้นการมีส่วนร่วม การประกันคุณภาพการศึกษา มีประสิทธิภาพเป็นส่วนหนึ่งของระบบบริหารโรงเรียน

ด้านผลผลิต
(Output หรือ Product)

 ผู้เรียน มีคุณภาพ มาตรฐาน มีพัฒนาการทุกด้าน มีความรู้ คุณธรรม
 โรงเรียนเป็นที่ชื่นชมของชุมชน เป็นแบบอย่างของโรงเรียนอื่น
           3.ขั้นตอนการพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ
              กระบวนการพัฒนาสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศ ควรมีกระบวนการตามขั้นตอน ดังนี้
                    1.กระตุ้นให้เกิดการปรับปรุง สร้างความตระหนักให้เกิดกับผู้เกี่ยวข้องว่างานของโรงเรียนต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความมั่นใจในคุณภาพการจัดการศึกษา
                    2.หาความต้องการผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ศึกษาแผนบริหารราชการแผ่นดิน ยุทธศาสตร์ของกระทรวง สพฐ. และเขตพื้นที่การศึกษา สำรวจความต้องการของชุมชน ผู้ปกครอง เพื่อกำหนดแนวทางพัฒนา
                    3.การประเมินสภาพองค์กร หรือการวิเคราะห์องค์กร (SWOT) ศึกษาและประเมินโรงเรียนโดยวิเคราะห์จากจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส และอุปสรรคของโรงเรียน
                    4.วางแผนกลยุทธ์ระยะ 4 ปี กำหนดกลยุทธ์ในการบริหาร (Strategic Management) เพื่อประสิทธิภาพและคุณภาพ เพื่อการดำเนินงานในกิจกรรมภารกิจหลักที่สำคัญ สร้างผลงาน สร้างคุณภาพ จากจุดแข็งของโรงเรียน การรวมพลังคน และทรัพยากรเพื่อการสนับสนุนภารกิจการบริหารงาน
                    5.วางแผนปฏิบัติงานประจำปี แปลงแผนกลยุทธ์สู่การปฏิบัติ ในรูปงาน โครงการ กิจกรรม
                    6.เสริมสร้างศักยภาพในองค์กร ด้วยการจัดหาสื่อ นวัตกรรม วัสดุอุปกรณ์เพื่อการบริหารจัดการ
                    7.ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการ (Action plan)
                    8.วัดและประเมินผลการดำเนินงาน โดยประเมินตามตัวชี้วัด (KPI) ที่กำหนด
                    9.ปรับปรุงงานอย่างต่อเนื่อง
           4.หลักการทำงานเพื่อพัฒนาโรงเรียน
              การที่จะพัฒนาโรงเรียนสู่ความเป็นเลิศ นอกจากจะต้องดำเนินงานตามขั้นตอนดังกล่าวข้างต้นแล้ว ผู้บริหารโรงเรียน ยังจำเป็นต้องใช้หลักการทำงานที่สำคัญ ดังนี้
                    1.คำนึงถึงเป้าหมาย คือ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ คุณธรรม
                    2.ทำงานด้วยความทุ่มเท ทำงานด้วยความรับผิดชอบ (รับผิดและรับชอบในผลงาน)
                    3.การทำงานเชิงรุก อย่างมีระบบ มีแผน มีการบริหารอย่างมีเป้าหมาย ตรวจสอบได้
                    4.การปฏิรูประบบการบริหารงาน ได้แก่
                           - การบริหารงาน มีแผน มีเป้าหมาย ประเมินผลงาน
                           - การบริหารคน ส่งเสริมคนดี คนเก่ง รับผิดชอบ รวดเร็ว
                           - การบริหารเงิน เกิดประโยชน์ ประหยัด ประสิทธิภาพ
                           - การพัฒนาบุคลากร เรียนรู้ร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
                    5.การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานของโรงเรียน ดังนี้
                           5.1) สร้างวิสับทัศน์ใหม่ร่วมกัน
                           5.2) สร้างพันธสัญญา ข้อตกลง ในการ
                                  - รับผิดชอบในหน้าที่ตามแผนงาน โครงการ โดยการปฏิบัติงานตามตัวชี้วัด (KPI)
                                  - พัฒนาตนเองอยู่เสมอ
                                  - พัฒนาคุณภาพงานที่รับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง
           ซึ่งข้าพเจ้าเชื่อว่า หากดำเนินการพัฒนาตามที่กล่าวมาข้างต้น โดยกระบวนการมีส่วนร่วม (Participative Management) ผู้บริหารเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้นำทางวิชาการ คณะครู และกรรมการสถานศึกษา สนับสนุน คอยช่วยเหลือตลอดทั้งกำกับติดตาม เพื่อที่จะนำไปสู่เป้าหมายปลายทาง คือ “สถานศึกษาที่เป็นเลิศ” เชื่อได้ว่าจะเกิดผลสัมฤทธิ์ตามความมุ่งหวังได้